นโยบาย และจรรยาบรรณ
นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
คณะกรรมการตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งไอ-เทลดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และ จรรยาบรรณทางธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ไอ-เทลได้จัดทำนโยบายที่รวมไปถึงแนวทางการแต่งตั้งบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริษัท โดยให้มีความหลากหลายทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ และความสามารถเฉพาะทางที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทเพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปตามกลยุทธ์และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ กรรมการจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเคร่งครัด
คณะกรรมการบริษัท ได้รับการแต่งตั้งโดยการอนุมัติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นโดยมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างเคร่งครัดด้วยความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัท โดยเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียนของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท และผู้ถือหุ้นทุกราย
คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการอย่างน้อย 5 คนและไม่เกิน 12 คน โดยต้องประกอบไปด้วยกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 คน และกรรมการบริษัทคัดเลือกสมาชิกคนใดคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท
กฎบัตรคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการตรวจสอบซึ่งได้จัดตั้งขึ้นโดยการอนุมัติของคณะกรรมการบริษัท ให้เป็นหน่วยงานอิสระ ในการกำกับดูแลองค์กรเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการของบริษัทเป็นไปตามข้อกำหนดและตามจรรยาบรรณที่พึงปฏิบัติ คงไว้ซึ่งระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ โดยปราศจากการขัดแย้งทางผลประโยชน์และการทุจริต พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมถึงสอบทานระบบการบริหารความเสี่ยงขององค์กร และกระบวนจัดทำรายงานทางการเงินของบริษัท
คณะกรรมการตรวจสอบต้องประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน โดยทุกรายต้องเป็นกรรมการอิสระและมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คน เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงิน
กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้การแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงและกรอบการบริหารความเสี่ยง กำกับดูแลกระบวนการบริหารความเสี่ยงโดยรวมขององค์กร และความเสี่ยงจากการลงทุน ให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ รวมถึงการรายงานความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยงที่สำคัญ ต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงประกอบด้วยกรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 คน ผู้บริหารของบริษัท และ/หรือผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงควรมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คนและไม่เกิน 9 คน
กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการบริหารได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามกลยุทธ์ ภารกิจ นโยบาย เป้าหมาย แผนงานทางธุรกิจของบริษัท และควบคุม สอดส่อง ดูแลกิจการ ตลอดจนดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของบริษัท ปัจจุบันคณะกรรมการบริหารประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ประธานเจ้าหน้าที่ด้านปฏิบัติการ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ด้านการพาณิชย์
กฎบัตรคณะกรรมการบริหาร
กฎบัตรคณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และบรรษัทภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้รับมอบอำนาจหน้าที่จากคณะกรรมการบริษัท ให้มีอำนาจในการจัดการ กำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทางการดำเนินธุรกิจ นโยบายธุรกิจของบริษัท กลยุทธ์ทางธุรกิจ เป้าหมาย แผนงานทางธุรกิจ และงบประมาณประจำปีของบริษัท รวมทั้ง กำกับดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทให้เป็นไปตามแผนงานต่าง ๆ ตามกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกฎระเบียบและข้อบังคับของบริษัท และนำมาซึ่งผลประกอบการที่ได้ตั้งเป้าหมาย ทั้งในส่วนที่เป็นเป้าหมายทางการเงิน และเป้าหมายที่มิใช่การเงิน รวมถึงการรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
ขอบเขต อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
แผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กร
คณะกรรมการบริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสืบทอดตำแหน่งของผู้บริหารระดับสูงขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยได้กำหนดให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งที่สำคัญโดยฝ่ายกลยุทธ์ทรัพยากรบุคคลจะเป็นผู้ประสานงานในการวางแผนสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan)
การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร
คณะกรรมการส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบการกำกับดูแลกิจการของบริษัท ได้แก่ กรรมการ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ กรรมการชุดย่อย ผู้บริหาร และเลขานุการบริษัท เพื่อให้เกิดการรับรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีและนำมาปรับปรุงการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ เลขานุการบริษัทต้องจัดทำแฟ้มเอกสารเพื่อนำเสนอข้อมูลของบริษัท ได้แก่ ลักษณะธุรกิจ แนวทางการดำเนินธุรกิจ นโยบายกำกับดูแลกิจการ จริยธรรมธุรกิจ รายชื่อกรรมการและผู้บริหาร และข้อมูลอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการใหม่ นอกจากนี้คณะกรรมการได้จัดให้มีโครงการสำหรับพัฒนาผู้บริหาร โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารรายงานให้ที่ประชุมรับทราบเป็นประจำทุกปี
ค่าตอบแทนของคณะกรรมการ
คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้พิจารณาโครงสร้างค่าตอบแทนของคณะกรรมการ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน โดยกระบวนการพิจารณาค่าตอบแทนนั้นต้องโปร่งใสและเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบและทัดเทียมกับมาตรฐานของธุรกิจเดียวกัน
หน่วยงานตรวจสอบภายใน
หน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัท ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่สอดส่องดูแลระบบการควบคุมภายในและตรวจสอบรายการที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ และให้ความมั่นใจว่าบริษัท มีระบบที่มีประสิทธิผลซึ่งจะส่งเสริมความน่าเชื่อถือให้กับงบการเงิน ตลอดจนมีระบบควบคุมภายในที่ดี มีประสิทธิภาพ มีการกำหนดและประเมินความเสี่ยงของกิจการ กำหนดมาตรการป้องกันและบริหารความเสี่ยง และมีการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน้าที่รายงานโดยตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับการสอบทานความมีประสิทธิภาพของระบบควบคุมภายใน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการดำเนินงาน และการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน การจัดการความเสี่ยงและการให้ความสำคัญต่อรายการผิดปกติทั้งหลาย
การบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการกำหนดให้มีนโยบายการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้ทั้งบริษัท และบริษัทย่อย มีการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการลงทุน ตามกระบวนการมาตรฐานที่กำหนดไว้ในกรอบการบริหารความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงการระบุและประเมินความเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัท รวมทั้งจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
คณะกรรมการบริษัทรับผิดชอบดูแลให้ระบบการจัดทำรายงานทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยจะดำเนินการดังนี้
- ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบ และมีจำนวนเพียงพอ
- จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียตามความจำเป็นและเหมาะสมอย่างสมํ่าเสมอ และดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ ทันเวลา และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
- คณะกรรมการบริษัทจะกำกับดูแลให้การเปิดเผยข้อมูล ซึ่งรวมถึงงบการเงิน รายงานประจำปี แบบ 56-1 One Report สามารถสะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานอย่างเพียงพอ และสนับสนุนให้จัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการประกอบการเปิดเผยงบการเงินทุกไตรมาส
- กรณีที่การเปิดเผยข้อมูลรายการใดเกี่ยวข้องกับกรรมการท่านใดท่านหนึ่งเป็นการเฉพาะกรรมการท่านนั้นจะดูแลให้การเปิดเผยข้อมูลในส่วนของตนมีความครบถ้วนถูกต้อง
การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
บริษัทกำหนดให้มีนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ซึ่งกำหนดให้กรรมการ กรรมการในคณะกรรมการชุดย่อย ผู้บริหารและพนักงานต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดแย้งต่อผลประโยชน์ของบริษัท การดำเนินธุรกิจต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน และควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ กล่าวคือ หากมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ใด ๆ เกิดขึ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับธุรกรรมที่พิจารณาต้องแจ้งให้บริษัททราบถึงความสัมพันธ์หรือการมีส่วนได้เสียของตนในธุรกรรมดังกล่าวและต้องไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณา รวมถึงไม่มีอำนาจในการอนุมัติธุรกรรมนั้น ๆ
นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
จรรยาบรรณธุรกิจ
ไอ-เทลมีความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นนอกเหนือจากความมุ่งมั่น และความเอาใจใส่ในการดำเนินงานแล้ว การยึดมั่นในจริยธรรม การมีคุณธรรม ความโปร่งใส และความซื่อสัตย์สุจริต จะนำพาให้ไอ-เทลประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน จากที่กล่าวมา ไอ-เทลได้จัดทำคู่มือจริยธรรมธุรกิจ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบ เพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งความซื่อสัตย์ที่สอดคล้องไปกับแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี
จรรยาบรรณธุรกิจ
นโยบายการใช้ข้อมูลภายใน
ไอ-เทลยึดมั่นในการปฏิบัติตามนโยบายการใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งห้ามไม่ให้บุคคลใดๆ ผู้ล่วงรู้ข้อมูลสำคัญของบริษัทที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะชนทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท อีกทั้งยังห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญของบริษัทที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะชนต่อบุคคลใดๆ ซึ่งภายหลังแล้วจะทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท บริษัทจะทำการแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากการใช้ข้อมูลสำคัญที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะชนดังกล่าวในทันที
นโยบายการใช้ข้อมูลภายใน
นโยบายการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน
ไอ-เทลกำหนดนโยบายการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันเพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับรายการเกี่ยวโยงกันใดๆ ของบริษัท เป็นไปอย่างถูกต้องโปร่งใส ตามหลักเกณฑ์การทำรายการที่เกี่ยวโยงกันที่สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด
คณะกรรมการตรวจสอบจะแสดงความคิดเห็นถึงความจำเป็น และ ความเหมาะสมของรายการดังกล่าวเพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท โดยรวมถึงความเหมาะสมของราคาและเงื่อนไขของรายการที่เกี่ยวโยงกัน ทั้งนี้บริษัทได้มีการเปิดเผยถึงรายการเกี่ยวโยงกันใดๆ ที่เกิดขึ้นไว้ในงบการเงินและรายงาน 56-1 One Report (รายงานประจำปี) ของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
นโยบายการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน
นโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน
ไอ-เทลไม่ยอมรับ หรือสนับสนุนการทุจริตและคอรัปชันทุกรูปแบบไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งนี้ ไอ-เทลได้มีการวางนโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอรัปชัน รวมถึงออกมาตรการเพื่อต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่เคร่งครัดเพื่อป้องกัน และรับมือกับเหตุการณ์การทุจริตต่างๆ นโยบายและมาตรการดังกล่าวได้รับการสอบทานอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าเกณฑ์ต่างๆ มีความทันสมัยและสามารถรับมือกับวิธีการใหม่ๆ ในการทุจริตได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้องตามนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าว อีกทั้งจะต้องสื่อสารต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายถึงแนวปฏิบัตินี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดการคอรัปชันต่อไป
นโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน
แบบฟอร์ม การแจ้งเบาะแสและร้องเรียน
การทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นการกระทำผิดตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของไอ-เทล หากผู้ใดพบเห็นการกระทำอันส่อทุจริตหรือคอร์รัปชัน ท่านสามารถแจ้งเบาะแสและร้องเรียนได้ตามแบบฟอร์มนี้ โดยไอ-เทลจะเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ร้องเรียนเป็นความลับ
อ่านเพิ่มเติม